วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548-2553 เป็นชุดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมือง ซึ่งมีความเห็นต่อต้านและสนับสนุนทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งวิกฤตการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ[1][2][3] เสถียรภาพทางการเมืองในไทย[4] ทั้งยังสะท้อนภาพความไม่เสมอภาคและความแตกแยก ระหว่างชาวเมืองและชาวชนบท[5] การละเมิดพระราชอำนาจ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[6] และผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งบั่นทอนการเมืองไทยมาเป็นเวลาช้านาน
ในปี พ.ศ. 2547 เริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนซึ่งมีความเห็นว่าทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ควรออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากข้อสงสัยในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องต่างๆ รวมทั้งปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และได้ขยายตัวเป็นวงกว้างยิ่งขึ้นจากการนำของสนธิ ลิ้มทองกุลในปี พ.ศ. 2548 ในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แต่หลังจากนั้นก็มีกลุ่มคนที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีออกมาเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดความเห็นต่างทางการเมืองและก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมไทย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ส่งผลให้ฝ่ายทหารในนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ภายหลังเปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ)นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ก้าวขึ้นสู่อำนาจและเข้ามามีบทบาททางการเมือง
ต่อมาคณะรัฐประหารได้แต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พ.ศ. 2549-2550 ซึ่งในช่วงดังกล่าว มีกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารหลายกลุ่ม นำโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) โดยกล่าวหาว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจ และต้องการขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์
ต่อมา พรรคพลังประชาชน ซึ่งถูกมองว่าเกี่ยวข้องทางการเมืองกับทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2550 และจัดตั้งรัฐบาลผสม ทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเคยเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณ ชินวัตร ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารมาแล้ว กลับมาชุมนุมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่ง ก่อนจะยุติการชุมนุม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน
ผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 ปรากฏว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมัยรัฐบาลทักษิณ สมัคร และสมชาย ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. (กลุ่ม นปก.เดิม) กลับมาชุมนุมอีกครั้งในปีพ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553เพื่อกดดันให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ในภายหลังวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 อภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา และผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากในสภา และยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น