การประสานประโยชน์ หมายถึง การร่วมมือกันเพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของตนและเป็นการระงับกรณีความขัดแย้งที่มาจากการแข่งขันทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การประสานประโยชน์มีความสำคัญทั้งทางด้านการเมือง การทหาร การค้า และการทูต อย่างไรก็ตามแม้จะมีการประสานประโยชน์ แต่ก็ยังมีการแข่งขัน ความขัดแย้ง และสงครามอยู่ ดังนั้นสังคมโลกจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุน และปรับปรุงวิธีการประสานประโยชน์ระหว่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การประสานประโยชน์โดยการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆ
การรวมกลุ่มของประเทศต่าง ๆ นั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและประสานผลประโยชน์ระหว่างประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจให้ประเทศต่าง ๆ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
1. ปัจจัยของการรวมกลุ่มของประเทศต่าง ๆ ปัจจัยในการรวมกลุ่มมีหลายประการ ดังนี้
1) สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น มีพรมแดนติดต่อกัน
2) ระบบเศรษฐกิจที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน
3) ระบบการเมืองการปกครองที่คล้ายคลึงกันจะรวมกลุ่มเพื่อประสานประโยชน์ร่วมกัน
4) ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความก้าวหน้าทางสังคม การศึกษา วัฒนธรรมในแต่ละประเทศให้เท่าเทียมกัน
2. รูปแบบการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ
1) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มี 4 ระดับ คือ
(1) เขตการค้าเสรี (Free Trade Area) หรือเขตปลอดภาษี มีการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรให้แก่ประเทศสมาชิกในกลุ่ม แต่จะเก็บภาษีศุลกากรเท่าใดก็ได้กับประเทศนอกกลุ่ม ได้แก่ นาฟตา (NAFTA) และ อาฟตา (AFTA)
(2) สหภาพศุลกากร (Custom Union) ยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรและข้อจำกัดทางการค้าให้แก่ประเทศสมาชิกในกลุ่ม และแต่ละประเทศในกลุ่มต้องกำหนดอัตราภาษีศุลกากรกับประเทศนอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน ในขณะนี้ยังไม่มีการรวมกลุ่มประเทศในระดับนี้ เช่น ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC)
(3) ตลาดร่วม (Common Market) การควบคุมสินค้าเข้าและสินค้าออกจะถูกยกเลิกให้แก่ประเทศสมาชิก และสามารถเคลื่อนไหวโยกย้ายปัจจัยการผลิตในประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี เช่น ประชาคมยุโรป (EC)
(4) สหภาพเศรษฐกิจ (Economic Union) นอกจากมีลักษณะเหมือนตลาดร่วมแล้วประเทศสมาชิกยังต้องมีนโยบายทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างเดียวกัน เช่น กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน นโยบายภาษีอากรอย่างเดียวกัน ร่วมกันตั้งองค์กรกลางขึ้นมาเป็นผู้คอยกำหนดนโยบายและวางแผนเศรษฐกิจให้ประเทศสมาชิกยึดถือ เช่นสหภาพยุโรป (EU)
2) การรวมกลุ่มการเมืองระหว่างประเทศ
ในอดีตการรวมกลุ่มความร่วมมือทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นการรวมกลุ่มเพื่อรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงร่วมกัน เนื่องจากหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดจึงเปลี่ยนไปเป็นความร่วมมือในการประสานผลประโยชน์ในเขตภูมิภาค เช่น องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันในเอเชียอาคเนย์ (SEATO) ซึ่งพัฒนาไปเป็นสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสมาคมอาเซียน (ASEAN) องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น